ในการทำข้อสอบ ก.พ. จะมีข้อสอบกลุ่มหนึ่งที่ให้ประโยคตัวอย่างหรือเงื่อนไขมา เช่น “ถ้า…แล้ว…” ข้อสอบลักษณะนี้เป็นการทดสอบทักษะด้าน ตรรกศาสตร์ ก.พ. ต้องใช้เหตุและผลตามที่โจทย์กำหนดมาให้ ดังนั้น เวลาทำข้อสอบจึงต้องตั้งสติดี ๆ ว่า “ต้องใช้เหตุผลตามโจทย์ อย่าใช้เหตุผลตามใจเรา”
ข้อสอบเรื่องตรรกศาสตร์ที่มักออกสอบ ก.พ. อาจมีหลากหลายรูปแบบ แต่จริง ๆ แล้วก็มีหลักที่ช่วยให้ได้จำง่าย ดังนี้
หลักการแก้โจทย์ ตรรกศาสตร์ ก.พ.
กรณีที่ 1
กำหนดให้ P → Q ดังนั้น ถ้า P แล้ว ก็ต้องเป็น Q ด้วยเสมอ
เงื่อนไขคือ “ถ้าฝนตก (P) รถจะติด (Q)” หากมีโจทย์ว่า “วันนี้ฝนตก” เท่ากับว่า “วันนี้รถจะติด” เป็นต้น ถึงแม้เราอาจคิดว่าไม่เป็นจริงเสมอไป เราอาจนึกถึงกรณีอื่น ๆ ที่ฝนตกแล้วคนไม่ออกจากบ้าน หรือฝนตกตอนกลางคืนรถก็ไม่เห็นจะติด แต่ต้องไม่ลืมว่าเรากำลังทำตามเงื่อนไขที่โจทย์กำหนด ดังนั้น เราจึงต้องตอบว่า “วันนี้รถจะติด” ตามเงื่อนไข
กรณีที่ 2
กำหนดให้ P → Q ดังนั้น ถ้าไม่ P อาจไม่จำเป็นต้อง Q
เมื่ออ่านเงื่อนไขนี้แล้วอาจสับสนเล็กน้อย แต่ประเด็นคือโจทย์กำหนดกรณีที่ P แน่นอน แต่ไม่ได้ระบุกรณีที่ “ไม่ P” ดังนั้น Q ก็ไม่สามารถสรุปได้ เช่น เงื่อนไขคือ “ถ้าฝนตก (P) รถจะติด (Q)” แต่โจทย์ตั้งมาว่า “ถ้าวันนี้ฝนไม่ตก (~P)” เราก็ไม่สามารถสรุปว่า “รถจะติด (Q)” หรือ “รถจะไม่ติด (~Q)” เนื่องจากเงื่อนไขไม่ได้กำหนดความสัมพันธ์ระหว่าง (~P) กับ (~Q) ไว้ (*อย่าเผลอใช้หลักเหตุผลทั่วไปเด็ดขาด ต้องยึดตามเงื่อนไขที่มีเสมอ)
กรณีที่ 3
กำหนดให้ P → Q ดังนั้น ถ้า Q แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องเป็น P
เงื่อนไขแบบนี้คล้ายกับเงื่อนไขในกรณีที่ 2 แต่มีรายละเอียดต่างกันเล็กน้อย ข้อนี้ต้องระวังไม่ใช้หลักเหตุผลทั่วไปเช่นกัน เนื่องจากเงื่อนไขกำหนดว่า P ส่งความสัมพันธ์ไปยัง Q เท่านั้น การที่โจทย์กล่าวถึง Q ก่อนไม่สามารถสรุปย้อนไปถึง P ได้ เช่น เงื่อนไขกำหนดว่า “เต่าเป็นสัตว์เลื้อยคลาน (P) สัตว์ตัวหนึ่ง (Q) ไม่ใช่เต่า” หากถามต่อว่าแล้วสัตว์ตัวนี้เป็นอะไร ก็ต้องตอบว่า “ไม่แน่ชัด” หรือ “ไม่มีคำตอบ” เพราะโจทย์กำหนดมาว่า “เต่าเป็นสัตว์เลื้อยคลาน” เท่านั้น แต่ไม่ได้ระบุต่อไปว่า “สัตว์อื่นที่ไม่ใช่เต่าเป็นสัตว์อะไร”
กรณีที่ 4
กำหนดให้ P → Q ดังนั้น ถ้าไม่ Q ก็ต้องไม่ P เสมอ
เงื่อนไขแบบนี้อาจดูใกล้เคียงกับกรณีที่ 3 แต่มีรายละเอียดต่างกัน ในโจทย์มักกำหนดข้อความปฏิเสธที่ตรงไปตรงมาชัดเจน เช่น เงื่อนไขว่า “ถ้าฝนตก นาย ก. จะไม่ไปโรงเรียน” ส่วนโจทย์คือ “นาย ก. ไปโรงเรียน” ดังนั้นคำตอบคือ “ฝนไม่ตก”
แบบที่ 5
กำหนดให้ P → Q แล้ว Q → R ดังนั้น P → R เสมอ
เงื่อนไขนี้เป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกัน 2 ชั้น สมมติโจทย์บอกว่า “ถ้าฝนตก รถจะติด” และ “ถ้ารถติด คนจะกลับบ้านค่ำ” ดังนั้น “ถ้าฝนตก” แล้ว “คนจะกลับบ้านค่ำ” เสมอ
จากสูตรง่าย ๆ ข้างบน เดี๋ยวเราลองมาทำตัวอย่างโจทย์เรื่องตรรกศาสตร์จากแนวข้อสอบ ก.พ. สัก 2 โจทย์ โดยระหว่างทดลองทำโจทย์ทั้ง 2 ข้อนี้ เราต้องไม่ลืมว่าการทำโจทย์ตรรกศาสตร์จะต้องยึดเงื่อนไขของโจทย์เป็นหลักด้วย
วิธีทำข้อสอบ ตรรกศาสตร์ ก.พ.
ตัวอย่างข้อสอบตรรกศาสตร์ ข้อที่ 1
สัตว์ปีกจะมีขนเป็นแผง วัวมีขนเป็นเส้น ดังนั้น
1. วัวเป็นสัตว์ปีก 2. วัวมีขนเป็นแผง
3. วัวไม่ใช่สัตว์ปีก 4. ไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด
วิธีคิด: เงื่อนไขในโจทย์ข้อนี้ตรงกับหลักตรรกศาสตร์กรณีที่ 4 คือ
P → Q
ถ้า ~Q
สรุป ~P
เท่ากับ สัตว์ปีก (P) → มีขนเป็นแผง (Q)
ถ้า วัวมีขนเป็นเส้น (ไม่ใช่ขนแผง) (~Q)
ดังนั้น จึงตอบข้อ 3. วัว ไม่ใช่สัตว์ปีก (~P) เนื่องจากข้อความ “วัวมีขนเป็นเส้น” เป็นการแสดงเงื่อนไขที่แตกต่างจากข้อความแรกอย่างชัดเจนคือ “มีขนเป็นแผง” ด้วยเหตุนี้จึงต้องตอบในลักษณะปฏิเสธ
ตัวอย่างข้อสอบตรรกศาสตร์ ข้อที่ 2
นกทุกตัวเป็นสัตว์ปีก สัตว์ปีกทุกตัวออกลูกเป็นไข่ ดังนั้น
1. สัตว์ปีกทุกตัวเป็นนก 2. สัตว์ที่ออกลูกเป็นไข่ทุกตัวเป็นสัตว์ปีก
3. นกออกลูกเป็นไข่ 4. ไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด
วิธีคิด: เงื่อนไขของข้อนี้ตรงกับหลักตรรกศาสตร์กรณีที่ 5 คือ
P → Q
ถ้า Q → R
สรุป P → R
เท่ากับ นกทุกตัว (P) → เป็นสัตว์ปีก (Q)
ถ้า สัตว์ปีกทุกตัว (Q) → ออกลูกเป็นไข่ (R)
สรุปคำตอบของข้อนี้คือ ข้อ 3. นกทุกตัวออกลูกเป็นไข่ (P → R)
โจทย์ในข้อที่ 2 นั้นอาจดูง่าย เนื่องจากเงื่อนไขที่ตั้งมาตรงกับความเป็นจริงในธรรมชาติ แต่ก็อย่าลืมระมัดระวังว่าเราต้องพิจารณาจากความเป็นเหตุเป็นผลที่โจทย์กำหนดมา ไม่ใช่เหตุผลโดยทั่วไป
ข้อสอบเรื่องหลักตรรกศาสตร์เป็นหัวข้อที่มักทำให้หลายคนสับสนได้ง่าย ๆ เนื่องจากตัวโจทย์ดูเหมือนประโยคเงื่อนไขทั่วไป แต่ความเป็นจริงเราต้องสังเกตเงื่อนไขที่โจทย์กำหนดมาให้ดี ๆ จึงจะจับจุดได้ถูกต้อง นอกจากนี้ ข้อสอบบางข้ออาจเลือกความจริงมาสร้างเป็นเงื่อนไขหลอกให้เราลืมใส่ใจเงื่อนไขของโจทย์ จึงเผลอเชื่อมโยงเหตุกับผลตามความรับรู้ของตนเองและพลาดตอบผิดไปโดยปริยาย
ฉะนั้น การฝึกทำข้อสอบเก่า ๆ ให้คุ้นเคยกับเงื่อนไขกรณีต่าง ๆ พร้อมกับเซ็ตวิธีคิดของเราให้สอดคล้องกับหลักการทำโจทย์ตรรกศาสตร์อย่างชำนาญ จึงเป็นวิธีเตรียมความพร้อมที่ดีที่สุด ทางติว กพ.com ได้รวบรวม ข้อสอบ ก.พ. ไว้แล้วในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ทุกคนมีขุมคลังข้อสอบติดตัวไปฝึกกันได้ทุกโอกาส และถ้าหากใครพร้อมนั่งเรียนอย่างละเอียดเพื่อติวเทคนิคตะลุยโจทย์เรื่องตรรกศาสตร์หรือเรื่องอื่น ๆ อย่างเข้มข้น ทางเราก็มีคอร์สเจาะลึกครบทุกวิชาให้ด้วยเหมือนกัน เพื่อน ๆ คนไหนสนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดกับเราได้ตลอดเวลาครับ 🙂