หลักภาษาไทย เป็นอีกหนึ่งหัวข้อของวิชาภาษาไทยที่มีเนื้อหากว้างและซับซ้อน เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาที่มีหลักยืดหยุ่น มีเงื่อนไขทางภาษาที่เอื้อให้ใช้ได้หลายรูปแบบ ข้อสอบ ก.พ. จึงมักนำเรื่องหลักภาษามาทดสอบอยู่บ่อย ๆ เพราะหากผู้เข้าสอบไม่ได้ทบทวนดี ๆ อาจทำผิดพลาดได้ง่าย วันนี้เรามาลองดูแนวการทำข้อสอบหลักภาษาไทยเพื่อเตรียมความพร้อมกันครับ
ความรู้เรื่องหลักภาษาที่นิยมนำมาออกสอบมักเป็นเรื่องการใช้คำใช้ประโยค การใช้ราชาศัพท์ หรือคำประพันธ์ต่าง ๆ เนื้อหาเหล่านี้เน้นทั้งการจดจำและการวิเคราะห์ ดังนั้น เราต้องทำความเข้าใจและจับแนวทางของแต่ละเรื่องให้ดี ๆ ครับ
การใช้คำใช้ประโยค มักเน้นวิเคราะห์ข้อความเป็นหลัก โดยอาศัยความรู้เรื่องคำและประโยคในภาษาไทยเป็นฐานสำคัญ เช่น การเรียงประโยคในภาษาไทยนิยมเรียงจาก ประธาน + กริยา + กรรม
แต่เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษา “คำโดด” ไม่มีการเปลี่ยนรูปไปตามหน้าที่หรือความสัมพันธ์ในคำ ตัวอย่างเช่นคำว่า “ขัน” ที่เป็นคำนาม หมายถึง ภาชนะที่ใช้ตักน้ำ สะกดเหมือนคำว่า “ขัน” ที่เป็นกริยาการส่งเสียงของไก่ ในขณะที่ภาษาในตระกูลอื่นอย่างภาษาอังกฤษ คำที่ทำหน้าที่ต่างกันจะมีรูปร่างหน้าตาต่างกัน เช่น act เป็นคำกริยา แปลว่า แสดง หรือกระทำ แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นคำนาม รูปคำจะเปลี่ยนเป็น action หรือ acting
ด้วยเงื่อนไขทางภาษาข้างต้น ทำให้หลายครั้งประโยคในภาษาไทยจึงตีความได้หลายความหมาย ขึ้นอยู่กับการเรียงคำและบริบท ซึ่งบางครั้งก็มีโอกาสเกิดความกำกวม ทำให้เราสับสนได้ ลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่ข้อสอบ ก.พ. นิยมนำมาใช้ออกเป็นข้อสอบเพื่อทดสอบว่า ผู้เข้าสอบจดจำหลักการใช้ภาษาและวิเคราะห์โจทย์ได้ดีหรือไม่ ดังตัวอย่างข้อสอบต่อไปนี้
ตัวอย่างข้อสอบ หลักภาษาไทย ก.พ. ข้อที่ 1
ตัวอย่างโจทย์ข้อที่ 1
ตัวอย่างที่ 1 ประโยคข้อใด ไม่ กำกวม
- เขาขับรถทับสุนัขตาย
- เธอยอมรับว่าเธอเป็นคนใช้
- ถ้าเขาตกลงไปคุณจะเสียใจ
- เมื่อคืนก่อนฉันนอนสวดมนต์ด้วย
วิเคราะห์โจทย์ + เฉลย
จากตัวอย่าง ต้องการทดสอบว่าเราจะเชื่อมโยงคำต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความหมายของประโยคได้ถี่ถ้วนหรือไม่ เฉลยของข้อนี้คือ ข้อ 4 เนื่องจากประโยคนี้เข้าใจได้นัยเดียว นั่นคือ “เมื่อคืนก่อน (บอกเวลา) ฉัน (ประธาน) นอนสวดมนต์ (กริยา) ด้วย (คำขยายกริยา)”
ส่วนข้ออื่น ๆ เข้าใจได้หลายความหมาย ดังนี้
ข้อ 1 อาจแยกได้เป็น “เขาขับรถทับสุนัข (ทำให้สุนัขนั้น) ตาย” หรือ “เขาขับรถทับ / สุนัข (ที่) ตาย (อยู่แล้ว)”
ข้อ 2 อ่านแยกได้เป็น “เธอยอมรับว่าเธอเป็นคนใช้ (คำนาม)” หรือ “เธอยอมรับว่าเธอเป็นคนใช้ (ใช้งานหรือสั่งให้ใครสักคนทำอะไร)”
ส่วนข้อ 3 แยกได้เป็น “ถ้าเขาตกลงไป (ยอมรับข้อเสนอ) คุณจะเสียใจ” หรือ “ถ้าเขาตก (หล่นจากที่สูง) ลงไป คุณจะเสียใจ”
ตัวอย่างข้อสอบ หลักภาษาไทย ก.พ. ข้อที่ 2
ตัวอย่างโจทย์ข้อที่ 2
ตัวอย่างที่ 2 ประโยคข้อใดยัง ไม่ จบกระแสความ
- กาลเทศะในการสื่อสารก็เป็นตัวกำหนดระดับภาษาเช่นเดียวกัน
- ถึงเวลาแสดงให้เห็นแล้วว่า คุณเลือกรับประทานได้ฉลาดแค่ไหน
- เมื่อตอนยังเด็กเขาชอบนอนหนุนตักแม่ บัดนี้เขาอายุสี่สิบกว่าแล้ว
- สาเหตุของโรคนี้ก็คือในกระเพาะและลำไส้มีเชื้อราอยู่เป็นจำนวนมาก
วิเคราะห์โจทย์ + เฉลย
ข้อนี้มุ่งให้เราวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของประโยค โจทย์ว่า “ยัง ไม่ จบกระแสความ” หมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างข้อความยังไม่สมบูรณ์ อ่านแล้วมีส่วนที่ติดขัดหรือไม่สัมพันธ์กัน เฉลยจึงเป็นข้อ 3 เนื่องจากประโยค “เมื่อตอนยังเด็กเขาชอบนอนหนุนตักแม่” มีคำว่า “เมื่อตอน…ยัง” และประโยคถัดมาแสดงเวลาที่เปลี่ยนไปว่า “ บัดนี้เขาอายุสี่สิบกว่าแล้ว” แต่ไม่ได้บอกว่า อายุสี่สิบแล้วเกิดอะไรขึ้นต่อไป ควรเติมข้อความว่า “ยังนอนหนุนตักแม่อยู่เลย” ต่อท้ายเพื่อให้ความของประโยคสมบูรณ์
ตัวอย่างข้อสอบ หลักภาษาไทย ก.พ. ข้อที่ 3
ตัวอย่างโจทย์ข้อที่ 3
ตัวอย่างที่ 3 ข้อความโฆษณาต่อไปนี้ต้องเติมคำเชื่อมใดระหว่างประโยคจึงจะได้เนื้อความตามเจตนาของผู้ส่งสาร “โค้กซีโร่ อร่อยเหมือนโค้ก…ไม่มีน้ำตาล”
- ที่
- ซึ่ง
- จึง
- แต่
วิเคราะห์โจทย์ + เฉลย
ตัวอย่างนี้ทดสอบเรื่องการเชื่อมโยงประโยคด้วยคำเชื่อม เฉลยของข้อนี้คือ ข้อ 4 แต่ เนื่องจากผู้ส่งสารต้องการสื่อสารที่ขัดแย้งกันระหว่าง “โค้กซีโร่ไม่มีน้ำตาล” กับ “โค้กซีโร่อร่อยเหมือนโค้ก (ซึ่งปกติใส่น้ำตาล)” คำเชื่อม แต่ จึงเป็นคำเชื่อมที่เหมาะสม
ส่วนคำเชื่อม ที่ กับ ซึ่ง เป็นการขยายความ ในขณะที่คำเชื่อม จึง เป็นการระบุเหตุ-ผล จึงไม่เหมาะกับประโยคดังกล่าว
นอกจากเรื่องประโยคแล้ว เรื่องที่ข้อสอบ ก.พ. มักนำมาออกข้อสอบคือ “ราชาศัพท์” เนื่องจากเป็น 1 ในภาษาที่สำคัญที่ข้าราชการต้องใช้ทำงาน ลักษณะข้อสอบราชาศัพท์จำเป็นต้องอาศัยความจำและความเข้าใจเกือบทั้งหมด เพราะมีความสัมพันธ์กับฐานะและลำดับชั้นยศของพระราชวงศ์ ดังตัวอย่าง
ตัวอย่างข้อสอบ หลักภาษาไทย ก.พ. ข้อที่ 4
ตัวอย่างโจทย์ข้อที่ 4
ตัวอย่างที่ 4 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ (………………………………) (……………………) ประธานในพิธีเปิด “หอศิลป์เจ้าพ่อหลวง” ณ ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ศูนย์ฝึกการทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
- เสด็จไป ทรงเป็น
- เสด็จพระดำเนิน ทรงเป็นองค์
- เสด็จพระดำเนินไป ทรงเป็นพระ
- เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเป็นองค์พระ
วิเคราะห์โจทย์ + เฉลย
เฉลยของข้อสอบข้อนี้คือ ข้อ 1 เสด็จไป ทรงเป็น เพราะคำว่า “เสด็จไป” เป็นราชาศัพท์ที่ใช้กับเจ้านายชั้นพระองค์เจ้า สังเกตได้จากชั้นยศ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ส่วนคำว่า “ทรงเป็น” นั้น หากมี “ทรง” แล้ว หลัง “เป็น” จะตามด้วยคำนามธรรมดา (ในโจทย์คือ “ทรงเป็น” + ประธาน) แต่หากหลังคำว่า “เป็น” มีคำว่า “องค์” ข้างหน้าก็ไม่ต้องใช้คำว่า “ทรง” อีก ดังนั้น ข้อ 2 ทรงเป็นองค์ จึงไม่ถูกต้อง ส่วนข้อ 3 ทรงเป็นพระ และข้อ 4 ทรงเป็นองค์พระ ไม่ใช่ราชาศัพท์ที่ถูกต้อง
ตัวอย่างข้อสอบ หลักภาษาไทย ก.พ. ข้อที่ 5
ข้อสอบหลักภาษากลุ่มสุดท้ายที่มักพบในข้อสอบ ก.พ. คือเรื่องคำประพันธ์ เนื่องจากแสดงลักษณะเด่นของภาษาไทยที่มีการเล่นสัมผัส ข้อสอบมักถามเรื่องฉันทลักษณ์หรือข้อบังคับในการแต่งคำประพันธ์โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ตัวอย่างโจทย์ข้อที่ 5
ตัวอย่างที่ 5
“ก้มมองโทรศัพท์ขยับยิ้ม
เห็นภาพ……………..ส่งมาทำหน้า…………
แลกเปลี่ยนออนไลน์กันทุกวัน…………
แสน………..ชีวิตอนิจจา
คำในข้อใดนำมาเติมในช่องว่างได้เหมาะสม
- อิ่ม เศร้า คืน ขมขื่น
- พิมพ์ ชื่น คืน เริงรื่น
- ลิ้ม ใส ใจ หวั่นไหว
- สวย สวย รวย เจ็บป่วย
วิเคราะห์โจทย์ + เฉลย
ตัวอย่างข้อนี้เป็นคำประพันธ์ประเภทกลอน แบ่งเป็น 4 วรรค แต่ละวรรคมี 8-10 คำ และมีการรับส่งสัมผัส 3 ตำแหน่ง ได้แก่
- คำสุดท้ายของวรรคที่หนึ่งจะสัมผัสกับคำที่ 3, 4, 5 หรือ 6 ของวรรคที่สอง
- คำสุดท้ายของวรรคที่สอง จะสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สาม
- คำสุดท้ายของวรรคที่สองและสามจะสัมผัสกับคำที่ 3, 4, 5, หรือ 6 ของวรรคสุดท้าย เช่น
จากข้อบังคับคำประพันธ์ข้างต้น คำตอบที่ถูกต้องของข้อนี้คือ ข้อ 2 พิมพ์ ชื่น คืน เริงรื่น ส่วนข้ออื่นเมื่อเติมลงในช่องว่างแล้วไม่สอดคล้องกับข้อบังคับการรับส่งสัมผัสของกลอน
ตัวอย่างทั้งหมดที่ยกมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องหลักภาษาที่ออกในข้อสอบ ก.พ. อยู่บ่อย ๆ ซึ่งมีจุดรายละเอียดที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจค่อนข้างมาก ถ้าใครอ่านถึงตรงนี้แล้วกลัวว่าจะเตรียมตัวไม่ทัน ก็อย่าเพิ่งกังวลกันครับ เพราะ “ความจริงเรื่องหลักภาษาเป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้ง่าย เนื่องจากมีพื้นฐานมาจากการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันที่เราฟัง-พูด-อ่าน-เขียนอยู่ตลอด เพียงแต่ต้องจับหลักให้มั่นคง” ดังนั้น ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนอยากพัฒนาความรู้ในเรื่องนี้ให้แน่นยิ่งขึ้นเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนสอบ แนะนำว่าให้เวลากับเรื่องนี้สักหน่อย และฝึกทำข้อสอบให้มาก ๆ ครับผม
หรือถ้าใครสนใจอยากติวตะลุยโจทย์แบบละเอียดอัดแน่น ทางติวกพ.com ก็มี คอร์สติวออนไลน์ พาทำข้อสอบอย่างละเอียด ครบทุกเรื่องทุกหัวข้อที่ออกข้อสอบด้วย สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ fb.com/tiwgorpor