อุปมาอุปไมยในการสอบ ก.พ. คืออะไร ?
“อุปมาอุปไมย” คืออะไร ใช่การเลือกถ้อยคำหรือสำนวนมาเปรียบให้เห็นภาพและทำให้ภาษาสละสลวยหรือเปล่า หลายคนอาจคุ้นหูว่าเคยได้ยินคำนี้ตอนเรียนวิชาภาษาไทย และคงมีคนสงสัยแบบนี้อยู่แน่ ๆ เวลาอ่านเจอในข้อสอบ ก.พ.
แต่ว่า…เรื่องอุปมาอุปไมยในข้อสอบ ก.พ. ไม่ใช่ “อุปมาอุปไมย” แบบเชิงเปรียบเปรยอย่างที่กล่าวไว้ด้านบนนะครับ ระวังอย่าสับสนเชียว!
คำว่า “อุปมาอุปไมย” มีความหมายว่า “การเปรียบเทียบกัน” ประกอบจากคำว่า “อุปมา” ที่หมายถึง “สิ่งหรือข้อความที่ยกมาเปรียบ” กับคำว่า “อุปไมย” ที่หมายถึง “สิ่งหรือข้อความที่พึงเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นเพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้ง” หัวข้ออุปมาอุปไมยที่พบในข้อสอบ ก.พ. จึงเป็นการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของคู่คำที่โจทย์หยิบยกมา อาจเป็นความสัมพันธ์ด้านความหมาย คุณสมบัติ ลักษณะ หรืออื่น ๆ เพื่อให้เราพิจารณาคู่คำในส่วนคำตอบว่า ข้อใดมีความสัมพันธ์สอดคล้อง (หรืออาจตรงกันข้าม) กับคู่คำในโจทย์
ข้อสอบ ก.พ. เรื่องอุปมาอุปไมยนี้ใช้สำหรับทดสอบความรู้ทั่วไป เพราะก่อนจะเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของคู่คำที่โจทย์ยกมาได้ เราต้องรู้จักคำคำนั้นก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงวิเคราะห์คำนั้น ๆ อย่างรอบด้านเพื่อแก้โจทย์ว่าเขากำลังเปรียบเทียบคู่คำนั้นในแง่มุมใด
สำหรับใครที่อยากเห็นภาพชัด ๆ และอยากทดสอบความรู้ทั่วไปกับการคิดวิเคราะห์ไปด้วย เรามาดูตัวอย่างจริงจากข้อสอบ ก.พ. ปี 2563 รอบที่ผ่านมากันดีกว่าครับ ตัวอย่างข้อสอบต่อไปนี้ยังมีคำอธิบายความสัมพันธ์และแนะเทคนิคไว้ด้วย สามารถจดจำไปใช้ได้อย่างดีเลย
อุปมาอุปไมย ก.พ. ข้อที่ 1 : ความสัมพันธ์เรื่องตำแหน่งหรือที่อยู่
คำด้านซ้ายและขวาของโจทย์ข้อแรกนี้เป็นคำนามทั้งคู่ คำในตัวเลือกทั้งซ้ายและขวาก็เป็นคำนามทั้งคู่เหมือนกัน เราจึงต้องวิเคราะห์ต่อ ว่าคำนามทั้ง 2 คำนี้สัมพันธ์กันอย่างไร
จากโจทย์จะสังเกตได้ว่า ความสัมพันธ์ของคำเป็นดังนี้
คำนาม : สิ่งที่ปิดอยู่บนคำนามด้านหน้า
บนขวดมักมีจุกปิดอยู่ด้านบน หรือพูดในทางกลับกันคือ จุก ปิดอยู่ด้านบน ขวด (เป็นความสัมพันธ์จากคำหลังเชื่อมโยงมาคำหน้า)
เมื่อเปรียบเทียบตัวเลือกทีละข้อจะพบว่า
- เตียงไม่ได้ปิดอยู่ด้านบนมุ้ง
- แก้วไม่ได้ปิดอยู่บนฝา
- ร่มไม่ได้ปิดอยู่บนหมวก
คำตอบที่ถูกที่สุดของข้อนี้จึงเป็น ตัวเลือกที่ 1. บ้าน : หลังคา ซึ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์จากคำหลังมาคำหน้าได้ว่า หลังคา ปิดอยู่ด้านบน บ้าน
สิ่งที่ย้ำเตือนเราขณะลองทำข้อนี้คือ ทิศทางความสัมพันธ์ของคำหน้ากับคำหลังมีทั้งจากหน้าไปหลัง และหลังไปหน้า หากติดที่ข้อไหน อย่าลืมวิเคราะห์ความสัมพันธ์เปรียบเทียบไปมาดูนะครับ
อุปมาอุปไมย ก.พ. ข้อที่ 2 : ความสัมพันธ์เรื่องชนิดหรือประเภท
มาที่ข้อนี้ โจทย์ยกชื่อพืชผักมา 2 ชนิด ในตัวเลือกก็เป็นชื่อพืชทั้ง 4 ข้อด้วย เป็นโจทย์ที่ประเมินความรู้ทั่วไปอย่างชัดเจนว่า เรารู้จักชนิดของพืชเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งถ้าลองสังเกตโจทย์ดี ๆ จะเห็นว่าพืชด้านซ้ายและขวาของโจทย์เป็นคนละประเภทกัน กล่าวคือ
- หัวไชเท้า (ซ้าย) เป็นพืชอยู่ใต้ดิน
- ส่วน ฟักทอง (ขวา) เป็นไม้เลื้อย
จากโจทย์จึงสรุปได้ว่า ความสัมพันธ์ของคำเป็นดังนี้
พืชอยู่ใต้ดิน : ไม้เลื้อย
เมื่อดูตัวเลือกที่ลำดับคำกับชนิดของพืชตรงตามโจทย์ คือ คำด้านซ้ายเป็นพืชอยู่ใต้ดิน และคำด้านขวาเป็นไม้เลื้อย คำตอบจึงมีแค่ข้อเดียวคือ ตัวเลือกที่ 3. ขิง (พืชอยู่ใต้ดิน) : แตงกวา (ไม้เลื้อย)
เวลาเจอโจทย์ที่กำหนดคำชนิดเดียวกันมา เทคนิคคือ ค่อย ๆ เปรียบเทียบความเหมือนความต่างของคำ อย่าเพิ่งตกใจ เพราะถ้าเราลนเมื่อไร อาจเผลอมองข้ามรายละเอียดเล็ก ๆ ที่ง่ายแสนง่ายไปอย่างน่าเสียดาย
อุปมาอุปไมย ก.พ. ข้อที่ 3 : ความสัมพันธ์เรื่องลักษณะ
จากโจทย์สังเกตว่าคำหน้า คือ คำว่าสำลี เป็นคำนามเรียกสิ่งของ ส่วนคำหลัง คือ คำว่านุ่ม เป็นคำวิเศษณ์บอกลักษณะ จึงสรุปได้ว่า ความสัมพันธ์ของคำเป็นดังนี้
คำนามเรียกสิ่งของ : คำวิเศษณ์บอกลักษณะ
ดังนั้นคู่คำในส่วนคำตอบที่มีความสัมพันธ์แบบเดียวกันคือ ตัวเลือกที่ 1. เต้าหู้ : นิ่ม นั่นเอง
ถึงแม้ตัวเลือกที่ 3. ทราย : ป่น อาจดูเข้าเค้า แต่ข้อนี้คือตัวหลอก เพราะคำว่า ป่น นอกจากจะเป็นคำวิเศษณ์ได้แล้วก็ยังเป็นคำกริยาด้วย และลักษณะของทรายมักใช้คำว่า “ละเอียด” หรือ “หยาบ” มากกว่านะครับ ระวังตัวหลอกพวกนี้ดี ๆ
อุปมาอุปไมย ก.พ. ข้อที่ 4 : ความสัมพันธ์เรื่องบทบาทหน้าที่
ข้อนี้วิเคราะห์ไม่ยากเลยครับ จากโจทย์จะสังเกตได้ว่าคำหน้าเป็นคำนามระบุตำแหน่ง/บทบาท ส่วนคำหลังเป็นคำบอกสถานที่ จึงสรุปได้ว่า ความสัมพันธ์ของคำเป็นดังนี้
คำนามระบุตำแหน่ง/บทบาท : คำนามบอกสถานที่ที่ปกครอง
ความสัมพันธ์ของข้อนี้ก็คือ เจ้าอาวาส เป็นตำแหน่งสูงสุดของผู้ดูแลปกครอง วัด เมื่อกวาดตาดูตัวเลือก ข้อที่เป็นคำบอกตำแหน่ง/บทบาท คือ ข้อ 2. กับ 4. แต่เมื่อสังเกตคำหลังว่าข้อใดบอกสถานที่ที่คำหน้าปกครองดูแลอยู่ ก็จะเหลือคำตอบแค่ ข้อ 2. คณบดี : คณะ เท่านั้น นั่นคือ คณบดี เป็นตำแหน่งสูงสุดของผู้ดูแลปกครอง คณะ
เห็นไหมครับว่ามีตัวหลอกอีกแล้ว ถ้าดูเฉพาะคำหน้าแล้วกาทันที เราอาจเสียคะแนนในข้อนี้ไป ดังนั้น ก่อนกา ต้องอ่านคำในตัวเลือกให้ครบถ้วนก่อนนะครับ
อุปมาอุปไมย ก.พ. ข้อที่ 5 : ความสัมพันธ์เรื่องการใช้ลักษณนาม
ตัวอย่างข้อนี้แค่กวาดตาดูก็รู้ได้ทันทีว่าเพื่อประเมินความรู้ทางภาษาไทยขั้นพื้นฐาน นั่นก็คือเรื่องคำลักษณนาม อันหมายถึงคำที่บอกลักษณะของคำนามข้างหน้า โดยทั่วไปมักเขียนอยู่หลังจำนวนนับ ดังนั้น ความสัมพันธ์ของคำเป็นดังนี้
คำนาม : ลักษณนาม
ความท้าทายของโจทย์ข้อนี้จึงเป็นเรื่องการจดจำคำว่าคำหนึ่ง ๆ ใช้ลักษณนามอะไร เทคนิกการทำโจทย์แบบนี้คือต้องอาศัยการทบทวนและท่องจำลักษณนามที่ถูกต้อง
ในตัวเลือกทั้ง 4 ที่ให้มานั้น ข้อที่ใช้ลักษณนามได้ถูกต้องคือ ตัวเลือกที่ 4. เกวียน : เล่ม นั่นเอง ส่วนคำลักษณนามที่ถูกต้องของตัวเลือกอื่นนั้นมีดังนี้
- ไข่ใช้ลักษณนามว่าฟอง
- ดินสอใช้ลักษณนามว่าแท่ง
- ช้างบ้านใช้ลักษณนามว่าเชือก
อุปมาอุปไมย ก.พ. ข้อที่ 6 : ความสัมพันธ์เรื่องสิ่งตรงข้ามกัน
ในข้อนี้เป็นการทดสอบความรู้ทั่วไป โดยเราต้องรู้จักสิ่งที่นำมาตั้งเป็นโจทย์ก่อน แล้วพิจารณาคุณสมบัติหรือลักษณะที่สัมพันธ์กันของสิ่งนั้น คำในโจทย์สิ่งที่ยกมามี “หิมะ” ซึ่งเป็นเกล็ดน้ำแข็งที่ตกจากท้องฟ้าในประเทศเมืองหนาว ส่วน “ลาวา” เป็นหินหลอมเหลวใต้เปลือกโลกที่ผุดขึ้นมาจากภูเขาไฟ ทั้งสองสิ่งนี้มีลักษณะตรงกันข้ามกันที่ชัดเจนคือ หิมะเป็นของเย็น ลาวาเป็นของร้อน ความสัมพันธ์จึงเป็นสิ่งที่ “ตรงกันข้าม”
เมื่อพิจารณาส่วนคำตอบ สิ่งของที่มีความสัมพันธ์ตรงกันข้ามกันคือ ข้อ 4. น้ำตาล : บอระเพ็ด เนื่องจากน้ำตาลเป็นของมีรสหวาน ส่วนบอระเพ็ดเป็นของที่มีรสขม ขณะที่ตัวเลือกอื่น ๆ เป็นสิ่งของที่มักปรากฏร่วมกัน เช่น โต๊ะ-เก้าอี้ ถ่าน-ไฟ หรือของที่มีลักษณะคล้ายกันอย่าง นุ่น-ขนนก
อุปมาอุปไมย ก.พ. ข้อที่ 7 : ความสัมพันธ์เรื่องสิ่งที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน
ข้อนี้คล้ายกับข้อโจทย์ก่อนหน้าคือ ถามเรื่องความสัมพันธ์ในลักษณะของสิ่ง 2 สิ่ง คำในโจทย์คือ ตะเบ็งมาน (วิธีการห่มผ้าแบบหนึ่ง คล้ายกับการสวมเสื้อในปัจจุบัน) กับ เสื้อ (เครื่องนุ่งห่มชนิดหนึ่ง) ดังนั้น ความสัมพันธ์ของคำเป็นดังนี้
วิธีการนุ่งห่ม : เครื่องนุ่งห่ม
คำตอบที่ตรงที่สุดจึงเป็น ตัวเลือกที่ 2. โจงกระเบน : โสร่ง เพราะ “โจงกระเบน” เป็น “วิธี” นุ่งผ้าแบบหนึ่ง ส่วนโสร่งเป็นผ้านุ่งชนิดหนึ่ง
ส่วนสิ่งที่ยกมาในข้ออื่น ๆ เช่น
- ข้อ 1. เป็นชื่อผ้า 2 ชนิด
- ข้อ 3 เป็นผ้านุ่งชนิดหนึ่งกับประเภทของผ้า
- และ ข้อ 4. ฮิญาบ และส่าหรี เป็นชนิดเครื่องแต่งกาย
หลังจากลองดูข้อสอบเก่ากันไปแล้ว คงรู้สึกว่าข้อสอบอุปมาอุปไมยก็ไม่ยากนี่นา นั่นเพราะคำในโจทย์ส่วนใหญ่เป็นความรู้ทั่วไปที่เรามักรู้จักกันดี แต่เมื่อโจทย์ไม่ยาก เราอาจประมาทและส่งผลให้เสียคะแนนได้ ฉะนั้น นอกจากข้อสอบอุปมาอุปไมยจะวัดความรู้รอบตัวกับการคิดวิเคราะห์แล้ว เป้าหมายสำคัญอีกอย่างก็คือวัดความรอบคอบด้วยครับ
หากเพื่อน ๆ หมั่นทดลองทำโจทย์เป็นประจำ ฝึกใช้เทคนิคที่ได้แนะนำไว้ข้างต้นจนคุ้นเคย รับรองว่าการสอบ ก.พ. รอบหน้าก็พิชิตได้สบาย ๆ แต่ถ้าใครยังกังวล เกรงว่าจะเตรียมตัวไม่พอ และอยากหาข้อสอบเก่ามาฝึกมือให้ชำนาญ ติว ก.พ. มีทั้ง คอร์สตะลุยโจทย์ และ ข้อสอบออนไลน์ ให้คุณลองทำกันได้ทุกที่ทุกเวลาเลย