หลาย ๆ คนเห็นสัญลักษณ์ในสมการคณิตศาสตร์ที่ดูยุ่ง ๆ แล้วอาจตกใจจนทำอะไรไม่ถูกขณะสอบ ทั้งที่ความจริงวิธีหาคำตอบของข้อนั้นอาจไม่ยากอย่างที่คิด โจทย์เรื่อง โอเปอเรชัน ก.พ. ที่พบในข้อสอบก็เช่นกัน ครั้งนี้ติวกพ.com จะมาอธิบายเรื่องโอเปอเรชันเพื่อให้ทุกคนเห็นโจทย์แล้วไม่ต้องหวั่นอีกต่อไป พร้อมลุยเก็บคะแนนในส่วนนี้กันได้ง่าย ๆ
แรกสุด มารู้จักคำว่า โอเปอเรชัน กันก่อนดีกว่า ว่าหมายถึงอะไร
โอเปอเรชัน (Operation) คืออะไร ?
โอเปอเรชัน (Operation) คือ การดำเนินการทางคณิตศาสตร์โดยนำตัวเลขที่โจทย์กำหนดมาบวก ลบ คูณ หาร หรือยกกำลัง
- สัญลักษณ์ที่ปรากฏในการดำเนินการ เช่น + – x / และอื่น ๆ เรียกว่า โอเปอเรเตอร์ (Operator)
- ส่วนตัวเลขที่ปรากฏอยู่ ด้านหน้า (น) และ ด้านหลัง (ล) ของสัญลักษณ์ ตัวถูกกระทำที่อาจเป็นค่าคงที่ ตัวแปร นิพจน์ หรือฟังก์ชัน เรียกว่า โอเปอแรนด์ (Operand)
โจทย์โอเปอเรชันที่มักปรากฏในข้อสอบ ก.พ. หน้าตาจะมีลักษณะแบบนี้
สิ่งที่เราต้องค้นหาเป็นอย่างแรกคือ การดำเนินการทางคณิตศาสตร์ที่ทำให้โอเปอเรชันที่ 1 และ 2 เป็นจริงตามที่โจทย์กำหนด จากนั้นจึงนำการดำเนินการทางคณิตศาสตร์ที่พบไปคำนวณหาค่าที่โจทย์ถามในโอเปอเรชันที่ 3 เพื่อให้เข้าใจวิธีคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ต่อไปจะอธิบายสเต็ปการคิดอย่างละเอียด โดยใช้โจทย์ที่เพิ่งออกข้อสอบ ก.พ. ปี 63 ในรอบ e-exam ที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างประกอบ ไปดูกันเลย!
ตัวอย่างข้อสอบจริง ก.พ. ปี 2563
วิธีทำโอเปอเรชัน ก.พ.
ข้อนี้บอกเลยว่าไม่ยาก ลองคิดไปพร้อม ๆ กันนะครับ
โจทย์กำหนด
- โอเปอเรชันที่ 1 คือ 2 * 3 = 15
- โอเปอเรชันที่ 2 คือ 3 * 4 = 21
- โอเปอเรชันที่ 3 คือ 1 * 6 = ?
1. หาความเชื่อโยงระหว่างตัวเลขในโอเปอเรชัน
เริ่มจากตัวเลขในโอเปอเรชันที่ 1 ซึ่งก็คือ 2 * 3 = 15
หลายคนคงคุ้นเคยดีอยู่แล้ว ว่า 15 เกิดจาก ผลคูณของ 3 กับ 5
สามารถเขียนเป็นสมการได้ว่า 3 x 5 = 15
ซึ่งเลข 5 ในสมการ 3 x 5 = 15 นี้ ก็เป็นผลบวกของ 2 + 3 ที่ตรงกับโอเปอแรนด์ในโอเปอเรชันที่ 1 นั่นเอง
เมื่อแทนค่าลงไปในสมการ 3 x ( 2 + 3 ) = 15 พบว่าสมการเป็นจริง
ดังนั้น 2 * 3 = 3 x ( 2 + 3 ) = 3 x 5 = 15
จึงสันนิษฐานได้ว่าการดำเนินการทางคณิตศาสตร์ที่ทำให้โอเปอเรชันที่ 1 ถูกต้องตามโจทย์กำหนด คือ 3 x ( น + ล )
2. ลองแทนค่าไปในโอเปอเรชันอื่นๆ
เพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้ เรามาแทน 3 x ( น + ล) ในโอเปอเรชันที่ 2 หรือ 3 * 4 = 21 กัน
จาก โอเปอเรชันที่ 2 คือ 3 * 4 = 21
แทนค่าใน
- 3 x ( น + ล ) = 21
จะได้
- 3 x ( 3 + 4 ) = 21
- 3 x 7 = 21
ดังนั้น
- 3 * 4 = 3 x ( 3 + 4 ) = 3 x 7 = 21
พบว่าสมการของโอเปอเรชันที่ 2 ก็เป็นจริงด้วย
ฉะนั้น เราจึงสามารถหาคำตอบของโอเปอเรชันที่ 3 คือ 1 * 6 = ? ได้ โดยแทนค่าตามที่โจทย์กำหนดลงใน 3 x ( น + ล) ดังนี้
จาก โอเปอเรชันที่ 3 คือ 1 * 6 = ?
3. แก้โจทย์โอเปอเรชัน
แทนค่าใน
- 3 x ( น + ล) = ?
จะได้
- 3 x ( 1 + 6 ) = 21
- 3 x 7 = 21
ดังนั้น
- 1 * 6 = 3 x ( 1 + 6 ) = 3 x 7 = 21
คำตอบของข้อนี้จึงเท่ากับ 21
สรุปวิธีคิดโอเปอเรชันแบบรวบรัด
นอกจากวิธีคิดอย่างละเอียดข้างต้นแล้ว เราได้สรุปรวบวิธีคิดไว้ให้แบบสั้น ๆ ด้วย เพื่อให้เห็นชุดตัวเลขและสัญลักษณ์ในโจทย์อย่างเป็นภาพรวม และช่วยให้เข้าใจคอนเซปต์การคิดโจทย์โอเปอเรชันได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ดังนี้
ทุกคนที่กำลังเตรียมสอบ ก.พ. คงเริ่มมองเห็นว่าค่าของตัวเลขในโจทย์โอเปอเรชันมักจะเป็นจำนวนน้อย ๆ สามารถนำไปแทนค่าและคำนวณตามสมการรูปแบบต่าง ๆ ได้ไม่ยาก เพราะจุดสำคัญของเรื่องโอเปอเรชันนั้นอยู่ที่ กระบวนการคิด ซึ่งหากใครหมั่นทำโจทย์คณิตศาสตร์เยอะ ๆ ฝึกแก้สมการบ่อย ๆ ก็จะคุ้นเคยและใช้เวลาคิดได้ไม่นานเลย
ตรงนี้เองที่จะทำให้คุณต่อจิ๊กซอว์ของโจทย์ โอเปอเรชัน ก.พ. ได้ไวและได้เปรียบเรื่องทำเวลา! ฉะนั้น เทคนิคสำคัญสำหรับเตรียมเรื่องโอเปอเรชันจึงเป็นการทดลองทำโจทย์คณิตศาสตร์เยอะ ๆ ไม่ว่าจะยากหรือง่าย เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เจอสมการหลากหลายรูปแบบ ทาง ติวกพ.com เองก็ได้รวบรวม ข้อสอบ ก.พ. ย้อนหลัง 6 ปี ไว้ในแบบออนไลน์ เป็นคลังให้ทุกคนฝึกทำโจทย์ของจริงและเตรียมความพร้อมก่อนลงสนามสอบ หรือใครลองทำโจทย์แล้วรู้สึกว่ายังมีบางเรื่องที่ไม่ชำนาญ เราก็มีคอร์สติวสอบออนไลน์แบบครบถ้วนทุกวิชา มาช่วยเสริมฐานความรู้ให้แข็งแรง เพื่อให้ในการสอบ ก.พ. ครั้งนี้ ผ่านฉลุยได้ง่าย ๆ ต่อให้เจอโจทย์เรื่องไหนก็ไม่ต้องกลัว!